เรย์ (Rays)

เรย์ (Rays)
    เรย์ (Rays) เป็นเซลล์พาเรงคิมามีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ผนังเซลล์บางเรียงตัวต่อเนื่องกันไปตามแนวรัศมีของต้นไม้หรือออกจากใจกลางไปสู่ด้านนอก ลักษณะของเรย์ตามที่ปรากฎให้เห็นบนหน้าตัดของไม้ จะเห็นเป็นเส้นยาวออกไปตามรัศมีของหน้าตัดไม้ ในเนื้อไม้บางชนิดเล็กจนยากที่จะมองเห็นได้ด้วยแฮนด์เลนส์ และบางชนิดก็ใหญ่จนเห็นด้วยตาเปล่า
ลักษณะของเรย์ที่ใช้ในการตรวจพิสูจน์ชนิดไม้ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและแฮนด์เลนส์ ขนาดกำลังขยาย 10-15 เท่า ดังนี้
    1) การมองเห็นเส้นเรย์
    2) ขนาดความกว้างของเส้นเรย์
    3) ความแตกต่างของขนาดเส้นเรย์
    4) จำนวนของเส้นเรย์
    5) สิ่งที่เห็นอยู่ในเส้นเรย์
    6) ลักษณะเรย์รวม
    7) ลักษณะเรย์เป็นชั้นๆ

1) การมองเห็นเส้นเรย์
    หมายถึงการมองเห็นเส้นเรย์ทางด้านหน้าตัดของไม้ด้วยตาเปล่าหรือแฮนด์เลนส์ คำบรรยายที่ใช้คือ สามารถมองเห็นเส้นเรย์ได้ และมองไม่เห็นเส้นเรย์ คำบรรยายที่ใช้ว่า “มองไม่เห็นเส้นเรย์” ไม่ได้หมายความว่าไม้ชนิดนั้นไม่มีเซลล์เรย์ แต่เป็นการบรรยายเมื่อดูหน้าตัดไม้ด้วยตาเปล่าหรือส่องดูผ่านแฮนด์เลนส์เท่านั้น เซลล์ของไม้ใบกว้าง (Hardwood) ส่วนมากมีเซลล์เรย์เป็นส่วนประกอบเสมอ แต่ในไม้บางชนิด เนื้อไม้ไม่มีเรย์ (Wood rayless) เช่น  Artrocnemum macrostachyum (Family Chenopodiaceae), Heimerliodendron brunonianum (Family Nyctaginaceae), Hebe salicifolia, Veronica traversii (Family Scrophulariaceae) (IAWA Commitee, 1989)

2) ขนาดความกว้างของเส้นเรย์ (Ray width)
    หมายถึง ขนาดความกว้างของเส้นเรย์ที่มองเห็นด้านหน้าตัดไม้ ณรงค์ (2531) ได้แบ่งขนาดของเรย์ตามขนาดที่เห็นได้ด้วยแว่นขยาย ดังนี้
    2.1) ขนาดเล็กมาก คือ ขนาดที่พอเห็นได้ด้วยแว่นขยาย
    2.2) ขนาดเล็ก คือ ขนาดที่เห็นได้ด้วยแว่นขยาย
    2.3) ขนาดปานกลาง คือ ขนาดที่พอเห็นได้ด้วยตาโดยไม่ต้องใช้แว่นขยาย    
    2.4) ขนาดใหญ่ คือ ขนาดที่เห็นอย่างสบายๆ ด้วยตาเปล่า


ข้อมูลเพิ่มเติม IAWA Committee (1989) ได้จัดลักษณะของเรย์ที่เกี่ยวกับขนาดของเรย์ (Ray width) โดยใช้จำนวนของเซลล์เรย์ ดังนี้
    1) Ray exclusively uniseriate
    2) Ray width 1-3 cells
    3) Large rays commonly 4 to 10 seriate
    4) Large rays commonly >10 seriate 

3) การเปรียบเทียบขนาดของเรย์และพอร์ 
    หมายถึงขนาดของเส้นเรย์ที่มองเห็นเปรียบเทียบกับขนาดของพอร์ด้านหน้าตัดไม้ การเปรียบเทียบขนาดของเรย์กับพอร์ นับว่าเป็นหลักในการประมาณขนาดของเรย์ อีกวิธีหนึ่ง ดังนี้
    3.1) เรย์มีขนาดเล็กกว่าขนาดความกว้างของพอร์
    3.2) เรย์มีขนาดเท่ากับขนาดของพอร์
    3.3) เรย์มีขนาดใหญ่กว่าพอร์


4) ความแตกต่างขนาดของเรย์ (Rays of two distinct sizes)
    หมายถึง การมองเห็นขนาดของเรย์ด้านหน้าตัดไม้ มีขนาดเดียวกันหรือเท่ากันหรือมีขนาดต่างกัน
    ลักษณะความแตกต่างของขนาดเส้นเรย์ สามารถนำมาใช้จำแนกชนิดไม้ที่มีความใกล้เคียงกันได้ เช่น ในกรณีของไม้เต็ง (Shorea obtusa) และไม้รัง (Shorea siamensis) ซึ่งไม้ทั้งสองชนิดมีลักษณะโครงสร้างไม้ใกล้เคียงกันมากแต่ลักษณะของเส้นเรย์ไม้เต็งจะมีขนาดใกล้เคียงกันมองเห็นเป็นขนาดเดียว ส่วนของไม้รังจะมีสองขนาดคือ มีขนาดเล็กเป็นเส้นบางๆ และขนาดที่หนากว่ามองเห็นใหญ่กว่าชัดเจน


5) จำนวนของเส้นเรย์ (Rays per millimeter)
    หมายถึงจำนวนของเส้นเรย์ที่มองเห็นได้ด้านหน้าตัดไม้ในความยาวตามด้านสัมผัสหนึ่งมิลลิเมตร แบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
    1) น้อย มีจำนวนเส้นเรย์น้อยกว่า 4 เส้นต่อมิลลิเมตร
    2) ปานกลาง มีจำนวนเส้นเรย์ 4-12 เส้นต่อมิลลิเมตร
    3) มาก มีจำนวนเส้นเรย์มากว่า 12 เส้นต่อมิลลิเมตร

6) ลักษณะเรย์รวม (Aggregate rays)
    คือ ลักษณะของเรย์หลายขนาดมารวมอยู่ชิดติดกันทำให้มองเห็นด้านหน้าตัดไม้เป็นเส้นเรย์ขนาดใหญ่ เป็นลักษณะเด่นที่พบในไม้บางชนิด เช่น ไม้ก่อ (Quercus spp.) สนประดิพัทธ์ เฉียงพร้านางแอ เป็นต้น

ลักษณะเรย์เป็นชั้นๆ (Rays storied) หรือ ริ้วลาย (Ripple mark)
    คือ ลักษณะของเรย์ที่มองเห็นด้านสัมผัสของไม้ เรียงตัวเป็นแวหรือเป็นชั้นๆ อย่างต่อเนื่องและสมำ่เสมอ ซึ่งลักษณะนี้จะพบได้เพียงไม้บางชนิด สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ไม้เขลง ประดู่ พะยูง สีเสียดเปลือก เป็นต้น

7) สิ่งที่อยู่ในเส้นเรย์
    หมายถึง ลักษณะของสารแทรกที่สามารถมองเห็นได้ในเส้นเรย์ด้วยตาเปล่า โดยปกติจะพบดีพอซิท (Deposit) สีขาว เช่น ไม้กระท้อน ไม้มะม่วง เป็นต้น
ส่วนสารแทรกประเภทอื่นๆ เช่น ผลึก ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า



 

ใหม่กว่า เก่ากว่า